4 ต.ค.2564 ครบ 251 ปี พระเจ้าตากสินฯ ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่

899

4 ต.ค. 2313 (ค.ศ. 1770) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่

อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดของไทย คือระหว่าง พ.ศ. 2310–2325 ระยะเวลา 15 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังอาณาจักรอยุธยาล่มสลายไปพร้อมกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทว่า ในเวลาต่อมา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

การกอบกู้เอกราช

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรับราชการเป็นพระยาตากในระหว่างสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระยาตากได้ถอนตัวจากการป้องกันพระนครพร้อมกับทหารจำนวนหนึ่งเพื่อไปตั้งตัว โดยนำทัพผ่านบ้านโพสามหาร บ้านบางดง หนองไม้ทรุง เมืองนครนายก เมืองปราจีนบุรี พัทยา สัตหีบ ระยอง โดยกลุ่มผู้สนับสนุนพระยาตากได้ยกย่องให้เป็น “เจ้า” และตีจนได้เมืองจันทบุรีและตราด เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310

ในเวลาใกล้เคียงกัน ฝ่ายกองทัพพม่าได้คงกำลังควบคุมในเมืองหลวงและเมืองใกล้เคียงประมาณ 3,000 คน โดยมีสุกี้เป็นนายกอง ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านโพธิ์สามต้น พร้อมกันนั้น พม่าได้ตั้งนายทองอินให้ไปเป็นผู้ดูแลรักษาเมืองธนบุรีไว้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอาณาจักรอยุธยาจะสิ้นสภาพลงไปแล้ว แต่ยังมีหัวเมืองอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับความเสียหายจากศึกสงคราม หัวเมืองเหล่านั้นจึงต่างพากันตั้งตนเป็นใหญ่ในเขตอิทธิพลของตน ส่วนทางด้านพระยาตากเองก็สามารถรวบรวมกำลังได้จนเทียบได้กับหนึ่งในชุมนุมทั้งหลายนั้น โดยมีจันทบุรีเป็นฐานที่มั่น

ต่อมา พระยาตากจึงนำกำลังที่รวบรวมประมาณ 5,000 คน ตีเมืองธนบุรีและอยุธยาคืนจากข้าศึก เสร็จแล้วจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา และทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ คือ กรุงธนบุรี

การรวมชาติและการขยายตัว

ครั้งเมื่อพระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรพม่าทรงทราบข่าวเรื่องการกอบกู้เอกราชของไทย พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองทวายคุมกองทัพมาดูสถานการณ์ในดินแดนอาณาจักรอยุธยาเดิม เมื่อปลาย พ.ศ. 2310 แต่ก็ถูกตีแตกกลับไปโดยกองทัพธนบุรี ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำทัพมาด้วยพระองค์เอง

ต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้จัดเตรียมกำลังเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง เพื่อให้เกิดการรวมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2311 ทรงมุ่งไปยังเมืองพิษณุโลกเป็นแห่งแรก ทว่า กองทัพธนบุรีพ่ายต่อกองทัพพิษณุโลก ณ ปากน้ำโพ จึงต้องเลื่อนการโจมตีออกไปก่อน แต่ภายหลังเจ้าพิษณุโลกถึงแก่พิราลัย ชุมนุมพิษณุโลกอ่อนแอลงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าพระฝางแทน

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เปลี่ยนเป้าหมายไปยังชุมนุมเจ้าพิมาย เนื่องจากทรงเห็นว่าควรจะปราบชุมนุมขนาดเล็กเสียก่อน กรมหมื่นเทพพิพิธสู้ไม่ได้ ทรงจับตัวมายังกรุงธนบุรี และถูกประหารระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311 เมื่อขยายอำนาจไปถึงหัวเมืองลาวแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพยายามใช้พระราชอำนาจของพระองค์ช่วยให้ นักองราม เป็นกษัตริย์กัมพูชา โดยพระองค์โปรดให้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพไปตีกัมพูชา แต่ไม่สำเร็จ

ในปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีศุภอักษรไปยังสมเด็จพระนารายณ์ราชา เจ้ากรุงเขมร โดยให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามประเพณี แต่สมเด็จพระนารายณ์ราชาปฏิเสธ พระองค์ทรงขัดเคืองจึงให้จัดเตรียมกองกำลังไปตีเมืองเสียมราฐ และเมืองพระตะบอง อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระองค์ได้ส่งพระยาจักรีนำกองทัพไปปราบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อทรงทราบข่าวทัพพระยาจักรีไปติดขัดที่ไชยา จึงทรงส่งทัพหลวงไปช่วย จนตีเมืองนครศรีธรรมราชได้เมื่อเดือน 10 ฝ่ายแม่ทัพธนบุรีในเขมรไม่ได้ข่าวพระเจ้าแผ่นดินมานาน จึงเกรงว่าบ้านเมืองจะไม่สงบ รีบยกกองทัพกลับบ้านเมืองเสียก่อน และทำให้การโจมตีเขมรถูกระงับเอาไว้

ในปี พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกกองทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง โดยตีได้เมืองพิษณุโลก และตามไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีได้ และทรงประทับ ณ เมืองสวางคบุรี เพื่อสมโภชการสำเร็จศึก และจัดการการปกครองและคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ 2 เดือนเศษ ซึ่งนับเป็นชุมนุมอิสระสุดท้ายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝางได้นั้น นับเป็นการพระราชสงครามสุดท้ายที่ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญ ในการรวบรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวดังเดิมหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 และทำให้สิ้นสุดสภาพจลาจลการแยกชุมนุมอิสระภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และ นับเป็นการสถาปนากรุงธนบุรีได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสำเร็จศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝาง ในปี พ.ศ. 2313

ที่มา : wikipedia.org

- Advertisement -

Comments are closed.